วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Unity in Diversity

โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง
“หลากหลายชาติพันธุ์รวมกันเป็น ๑” (Unity in Diversity)


หลักการและเหตุผล

องค์การยูเนสโก ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๔ โดยเสนอให้ทุกประเทศมีการดำเนินการและยอมรับในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์และทำให้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคม โดยเน้นให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จัดทำนโยบายวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในชาติ รวมถึงการกำหนดบทบาทของสมาชิกในชุมชนให้มีส่วนช่วยธำรงค์รักษามรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น พร้อมกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในประเทศบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างเสริมวัฒนธรรมของแต่ละชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิมนุษยชน (Human Rights) บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (Unity in Diversity)
จากแนวนโยบายการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลยั่งยืน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ ที่เน้นความสำคัญของการเสริมสร้างทุนของประเทศที่มีอยู่ ทั้งที่เป็นทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีมากขึ้นและเชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา โดยการเสริมสร้างทุนทางสังคมเป็นพื้นฐานหลัก ซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพคนให้เป็นคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีจิตสำนึกสาธารณะ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนและระหว่างชุมชน การเสริมสร้างให้ชุมชนมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งมาร่วมคิดร่วมเรียนรู้สู่การปฏิบัติ มีกระบวนการเรียนรู้และการจัดการองค์ความรู้ในรูปแบบที่หลากหลายตามภูมิสังคมที่เหมาะสม สอดรับกับการดำเนินชีวิตบนฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรมชุมชน ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรักความเอื้ออาทร มีความสามัคคี เสียสละ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้หน่วยงานทุกระดับพยายามกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการขึ้นมารองรับ แต่สิ่งที่ดูเหมือนทุกหน่วยงานจะมองข้ามไปคือ การศึกษาศักยภาพและความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเพื่อกำหนดแผนที่เป็นรูปธรรม สามารถตอบสนองความต้องการและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม อันจะเป็นการรักษารากฐานของสังคมไทยซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้สามารถปรับตัวได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่ายังมีกลุ่มคนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับสิทธิของการเป็นพลเมืองของประเทศไทย ไม่ได้รับการดูแลด้านคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับประชากรกลุ่มอื่นของประเทศ หรือบางครั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนในพื้นที่ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติในระยะยาว เช่น ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาสิทธิความเป็นคนไทยของชนกลุ่มน้อย
การศึกษาเรื่องราวของกลุ่มชนทั้งในเชิงลึกและกว้าง รวมถึงแนวโน้มในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในความเป็นชนเผ่าของกลุ่มชนและบุคคลนอกกลุ่มชน จะสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมก้าวเข้าสู่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง การให้ความสำคัญกับประเด็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นพอๆ กับวัฒนธรรมกระแสหลัก ความเข้าใจรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากแง่มุมทางวัฒนธรรม ก็มีความจำเป็นมากขึ้นตามไปด้วย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจ และการยอมรับความแตกต่างของกลุ่มชนต่างวัฒนธรรม จึงจัดโครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “หลากหลายชาติพันธุ์รวมกันเป็น ๑” (Unity in Diversity)


วัตถุประสงค์
๑. เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมา ภูมิปัญญา และรูปแบบวิถีชีวิต และการสร้างเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
๒. เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพในการพัฒนาสังคมในภาพรวม
๓. เพื่อนำองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายไปสู่คุณค่าทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม
เป้าหมาย
๑. ผู้เข้ารับการสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบัน
๒. มีเครือข่ายการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพในการพัฒนาสังคม ในภาพรวมระหว่างหน่วยงานด้านวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน กับสถาบันการศึกษา
๓. องค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้รับการเผยแพร่และพัฒนาไปสู่คุณค่าทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ผู้เข้ารับการสัมมนาเกิดความรู้ ความเข้าใจในในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
๒. เกิดความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพในการพัฒนาสังคมในภาพรวม
๓. มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ

ผู้รับผิดชอบโครงการ
กระทรวงวัฒนธรรมและสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม