วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ขุมทรัพย์แห่งบรรพชน

              ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสิ่งแสดงความเจริญด้านภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นอกลักษณ์ของกลุ่มชน โดยถ่ายทอดจากบรรพชนสู่ชนรุ่นหลัง ผ่านทางขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ การแสดง และการละเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ


           สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเนื่องจากเป็นแหล่งรวมผู้คนจากทุกสารทิศนับแต่โบราณกาล การที่ชนกลุ่มต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้นั้นมีสาเหตุหลายประการ โดยสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ โลกทัศน์ที่มีต่อสรรพสิ่งรอบตัว ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปในความเชื่อของกลุ่มชนต่าง ๆ จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

               แต่จากการครอบงำของระบบทุนนิยมที่มีต่อความคิด การผลิต การบริโภค ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ลืมเลือนคำสอนของบรรพชน หันไปสนใจแต่ความเจริญทางเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มุ่งแสวงหาเงินทองเป็นสำคัญ ศิลปะวัฒนธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความร่ำรวย โดยไม่แยแสสนใจข้าวของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง หลายคนได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูแลวัฒนธรรมแต่กลับไม่เข้าใจวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ ไม่เข้าใจรากฐานความคิดของวัฒนธรรมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยืนยาว ทำให้วัฒนธรรมเป็นเพียงเครื่องมือให้คนเหล่านั้นก้าวหน้าในตำแหน่ง หน้าที่การงานเท่านั้นเอง ไม่มีคุณค่าต่อสังคมและชุมชนเลยสักนิด ทำให้เกิดความคิดว่าน่าเสียดายที่วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแห่งกลุ่มชนอันยิ่งใหญ่ถูกทำลายด้วยมือของลูกหลานผู้โฉดเขลา

                ผมมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานวัฒนธรรมอยู่ระยะหนึ่ง  เริ่มจากความรู้ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดว่างานวัฒนธรรมคงเกี่ยวข้องกับการแสดง  การละเล่น  เช่นที่คนทั่วไปเข้าใจ  แต่เมื่อได้รับมอบหมายให้มีส่วนในการกำหนดนโยบายและแผนดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของหน่วยงาน  จึงต้องเร่งศึกษาเพิ่มเติมอย่างมากทำให้พบว่างานวัฒนธรรมมีขอบเขตที่กว้างมาก เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่านที่จะจัดการงานวัฒนธรรมใหครอบคลุมทั้งหมดด้วยคนเพียงคนเดียว  หรือหน่วยงานเดียว  ต้องมีการบูรณาการความรู้  ความสามารถ  ศักยภาพของคนในหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพ  แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเป็นจริง  ยังคงเหมือนกับความฝันของเด็กขอทาน  เพราะอะไรหรือ?

                 ถ้าตอบในแนวของวัฒนธรรมเองจะพบคำตอบว่า  ด้วยลักษณะนิสัยบางอย่างของคนในบ้านนี้เมืองนี้บางคน  บางส่วน  ทำให้การบูรณาการดังกล่าวเป็นเพียงความคิดที่ยังห่างไกลความเป็นจริง    เพราะคนเรามักคิดว่าตัวเองเก่ง  ฉลาดกว่าคนอื่น หรือมักคิดว่าทำไปทำไม  เหนื่อยเปล่า ๆ มีบางคนถึงกับพูดว่าอย่าสร้างงานใหม่เลย  เขาทำมายังไงก็ทำไปอย่างนั้นแหละ  ทำใหม่ให้เหนื่อยทำไม  เงินก็ไม่ได้เพิ่ม  ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  ฟังอย่างนี้แล้วอยากบอกด้วยความเคารพว่า  กรุณากลับไปอยู่บ้านให้สบายเถอะครับ  แต่ถ้าพูดด้วยภาษาบ้านผมจะบอกว่า  ไปตายซะ  หรือไม่ก็กลับไปซุกชายผ้าถุงซะ  ไม่ควรอยู่ต่อไปให้เป็นเสนียดกับหน่วยงาน  เป็นจัญไรต่อแผ่นดินอีกเลย

               ที่คิดอย่างนี้เพราะระลึกถีงวันเวลาแห่งการต่อสู้ดิ้นรนของบรรพชนที่ยอมเหนื่อยยากหักล้างถางพง บุกบั่นสร้างบ้านเมือง สร้างความเจริญ สั่งสมและถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมให้ลูกหลานมาโดยตลอด ท่านยอมแม้กระทั่งการหลั่งเลือดชโลมแผ่นดิน  เพื่อรักษาความเป็นชาติ  ความเป็นไทย ความเป็นสยาม  ความเป็นสุวรรณภูมิ ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์แห่งชนชาติที่ทุกคนยอมรับอยู่ในใจดีอยู่แล้ว 

               ที่เขียนมานี้มิได้มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นคนทำงานวัฒนธรรมนะครับ เพียงแต่อดไม่ได้ที่จะสะท้อนความคิด  ประสบการณ์ที่พบเจอมาซึ่งแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของคนทำงานวัฒนธรรม แต่ก็เป็นส่วนที่ทำให้งานในภาพรวมไม่พัฒนาหรืออาจเป็นภาพลบเล็ก ๆ ที่ทำลายกำลังใจของคนทำงานอีกหลายคนที่ยังมีไฟ

                 ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องผองเพื่อนผู้ทุ่มเทเสียสละในการทำงานวัฒนธรรมอย่างจริงจังและจริงใจ ทำต่อไปเถอะครับ อย่าท้อถอยในความดีที่ท่านทำอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นท่านก็จะเป็นเช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่ผมว่ามาแล้ว ที่สักวันพวกเขาก็จะตายไปจากแผ่นดินนี้แล้ว ท่านคือผู้ที่จะฟื้นฟูมรดกของบรรพชนให้คงอยู่และมีคุณค่าต่อไป