วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แผนที่วัฒนธรรม

แผนที่วัฒนธรรม แสดงพื้นที่ในวัฒนธรรมเดียวกันและต่างกัน



คอลัมน์ สยามประเทศไทยโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


แผนที่ทางวัฒนธรรม เป็นชื่อใหม่และยังมีความหมายไม่ตรงกัน ต่างใช้คนละความหมาย เช่น ทางบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้อย่างหนึ่งตามข้อเขียนของ รศ. วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พิมพ์ในวารสารวัฒนธรรมไทย (ของกระทรวงวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551) จะขอคัดมาเผยแพร่ให้อ่านกันก่อนดังนี้


"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการวัฒนธรรมได้ โดยมองว่าวัฒนธรรมเป็น "ทรัพยากร" ในทางการบริหาร และตระหนักว่า "วัฒนธรรม" เป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น...




การใช้ประโยชน์จากแผนที่วัฒนธรรม


การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางวัฒนธรรมหรือการจัดการทางวัฒนธรรม ได้แก่ การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา การถ่ายทอดวัฒนธรรม และการส่งเสริมวัฒนธรรม จะเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสามารถดำเนินการจัดการทางวัฒนธรรมได้ในหลากหลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่ง คือการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้าใจถึงสถานภาพและคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะใช้ประโยชน์หรือจัดการวัฒนธรรม เป็นเรื่องของการตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น"


แต่แผนที่วัฒนธรรม ที่ใช้ในหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์ และแผนที่วัฒนธรรมของ (สยาม) ประเทศไทย วางขายทั่วประเทศขณะนี้ (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สนับสนุนทุนพิมพ์) หมายถึงแผนที่แสดงพื้นที่บริเวณที่ราบ ลุ่มน้ำ และหุบเขา ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาคล้ายคลึงกันหรืออย่างเดียวกัน ดังมีคำอธิบายในหนังสือ ว่า


"เขตการปกครองของประเทศไทยคลาดเคลื่อนจากลักษณะภูมิประเทศและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น กำหนดให้กลุ่มสุโขทัยเป็นภาคเหนือตอนล่าง ทั้งๆ ที่ภูมิประเทศและประวัติศาสตร์เป็นภาคกลางตอนบน เป็นต้น


ฉะนั้น บริเวณประเทศไทยควรจัดแบ่งตาม "เขตพื้นที่ทางวัฒนธรรม" ที่แตกต่างกัน โดยดูจากหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี"


ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ไม่เข้าใจ "ทรัพยากร" อันเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีคล้ายคลึงกัน อย่างเดียวกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร เช่น


ภาคกลางมีแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยเป็นแกนกลาง แล้วแบ่งออกเป็น 2 บริเวณ คือตอนบนกับตอนล่าง


ตอนบน เป็นวัฒนธรรมรัฐสุโขทัย อยู่ลุ่มน้ำป่าสัก-น่าน-ยม-ปิง (วัง) ทางเหนือสุดอยู่อุตรดิตถ์ ทางใต้สุดอยู่นครสวรรค์ เขตภายในมีตาก, กำแพงเพชร, พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์


ตอนล่าง เป็นวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และอ่าวไทย คือฟากตะวันตกและฟากตะวันออก


ฟากตะวันตก ทางลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน เชื่อมโยงถึงอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน มีจังหวัดต่างๆ คือ อุทัยธานี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, นครปฐม, ราชบุรี, สมุทรสาคร, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์

ฟากตะวันออก ทางลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ถึงลุ่มน้ำบางปะกง และดินแดนชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ลพบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, อยุธยา, นนทบุรี, กรุงเทพฯ, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด


นี่ไง แผนที่วัฒนธรรมที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันแท้ๆ ก็มีหลายส่วนแตกต่างกันอย่างเห็นชัดๆ


ขอขอบคุณที่มา : มติชนรายวัน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2551 หน้า 21