วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

มอญ : ไร้แผ่นดินแต่ไม่สิ้นวัฒนธรรม

มอญรำพึง

เฝ้าร่ำไห้อาลัยแผ่นดินแม่
เป็นผู้แพ้จำต้องจากพลัดพรากหาย
รอนแรมป่าฝ่าเขาแทบวางวาย
กว่าสบายใต้พระบรมโพธิสมภาร
ทูนเทิดไว้เหนือเกล้าเท่าชีวิต
ดั่งอาทิตย์ส่องหนพ้นสงสาร
จนเลยวารทุกข์ล่วงปวงรามัญ
แม้อาสัญขอบูชามหากษัตริย์ไทย


มอญคิด ไทเขียน


“ทรงเป็นที่เคารพและเทิดทูนของคนมอญ”
น้ำเสียงเรียบๆ แต่จริงจังเป็นสิ่งที่คณะเราได้ยินโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า เพราะอะไร?


“คนมอญไม่มีแผ่นดิน ไม่มีกษัตริย์ ถูกข่มเหงในดินแดนของตัวเองมานาน เห็นพระองค์ทรงห่วงใยและช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ทำให้เกิดความรักและศรัทธาอย่างยิ่ง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าทุกบ้านมีรูปของพระองค์แขวนไว้รองลงมาจากพระพุทธรูป”

คำตอบที่ได้รับกลับมา ทำให้ต้องกลับมาทำการบ้านอย่างมากในเรื่องราวของกลุ่มชนที่เคยมีอดีตอันยิ่งใหญ่ แต่ปัจจุบันกลับไร้แผ่นดิน ไม่มีแม้กระทั่งสัญชาติ แต่ยังคงความเป็นชนชาติที่มีความพยายามในการรักษาและสืบต่อวัฒนธรรมไว้อย่างเข้มแข็ง


จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า นับเนื่องแต่อดีตกาล ดินแดนสุวรรณภูมิได้มีกลุ่มชนหลากหลายกลุ่มอาศัยอยู่มานานนับพันปี ชนชาติมอญเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เป็นผู้สร้างสรรค์รากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญและถ่ายทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการสันนิษฐานว่า ชนชาติมอญซึ่งเป็นพวกมองโกลอยด์ อพยพลงมายังดินแดนที่เป็นประเทศพม่า ในขณะที่ชนเผ่ากัปปะลีซึ่งเป็นพวกนิกริโต และเป็นกลุ่มชนแรกเริ่มที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มากว่า 4 พันปี ก็เคลื่อนย้ายไปอาศัยอยู่ตามเกาะภีลู หรือ บะลูและเกาะกัปปลี โดยกลุ่มชนมอญโบราณได้ตั้งหลักแหล่งในรูปแบบของสังคมกสิกรรรม และเรียกแผ่นดินแรกของมอญนี้ว่า รามัญเทสะ

ในทางมานุษยวิทยานั้น มอญ อยู่ในกลุ่มชนชาติที่พูดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmar) ตระกูลออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) เป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูง ( Emmanuel Guilon. 1999 :1-3) ภาษามอญ เป็นสายหนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมร 12 สาย มีการใช้มานานประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว


หลักฐานการค้นพบการใช้อักษรมอญที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ จารึก วัดโพธิ์ร้าง พ.ศ. 1143 จัดเป็นอักษรมอญโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาจารึกภาษามอญที่ค้นพบในดินแดนอุษาคเนย์ โดยเป็นจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรปัลลวะ และได้พบอักษรที่มอญประดิษฐ์เพิ่มขึ้นเพื่อให้พอกับเสียงในภาษามอญ ในจารึกเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูง เมืองลพบุรี โดยอักษรที่จารึกในศิลาหลักนี้ เรียกว่า ตัวอักษรหลังปัลลวะ

เนื่องจากได้พบจารึกภาษามอญโบราณในภูมิภาคต่าง ๆ ของอาณาจักรทวารดี จึงอาจกล่าวได้ว่า ในอาณาจักรทวารวดีนั้นมีกลุ่มชนที่ใช้ ภาษามอญ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งยังเป็นกลุ่มชนที่ได้รับเอาอารยธรรมจากอินเดีย โดยเฉพาะอารยธรรมทางด้านตัวอักษร เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ ดังปรากฏหลักฐานในจารึกที่ใช้รูปอักษร ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-11 จารึกดังกล่าวบันทึกไว้ด้วยรูปอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่ จารึกวัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จังหวัดลพบุรี จารึกถ้ำพระนารายณ์ จังหวัดสระบุรี จารึกเมืองบึงคอกช้าง จังหวัดอุทัยธานี และในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 ก็ได้พบจารึกใช้รูปอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ ได้แก่ จารึกเสาแปดเหลี่ยม จังหวัดลพบุรี จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น จารึกพระพิมพ์ดินเผานาดูน จังหวัดมหาสารคาม จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดด จารึกวัดโพธิ์ชัยเสมาราม จังหวัดกาฬสินธุ์ จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล จังหวัดนครสวรรค์

จากความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรทวาราวดีกับชนชาติมอญ จะเห็นได้ว่า มอญ คือกลุ่มคนที่มีรกรากอยู่ในอาณาบริเวณนี้ โดยที่อาณาจักรในสมัยก่อนยังไม่มีการใช้เส้นแบ่งเขตดินแดนที่ชัดเจนเช่นในปัจจุบัน กลุ่มชนเคลื่อนย้ายไปตามศูนย์กลางความเจริญ ความรู้สึกของการเป็นพวกพ้องเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนผสมกลมกลืนในวิถีชีวิต ความคิด วัฒนธรรม ประเพณี จนทำให้เป็นการลำบากที่จะแยกว่าวัฒนธรรมใดเป็นของกลุ่มชนใดมาตั้งแต่แรกเริ่มอย่างแท้จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนมอญก็คือ ภาษา ซึ่งอาจดูคล้ายคลึงกับภาษาพม่า และภาษาธรรมของล้านนา ซึ่งตัวอักษรมอญมีพัฒนาการจากประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยคลี่คลายจากตัวอักษรปัลลวะมาเป็นตัวอักษรสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า อักษรมอญโบราณ และเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กลง และกลายเป็นอักษรมอญปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะกลม เกิดจากอิทธิพลของการจารหนังสือโดยใช้เหล็กจารลงบนใบลานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเป็นคนมอญ คือ การแต่งกาย ซึ่งก็มีพัฒนาการผสมผสานกับการแต่งกายของคนไทยตามยุคตามสมัย หากจะเห็นได้ชัดเจนในงานประเพณี หรืองานบุญ โดยที่ชายชาวมอญจะสวม เกลิด หรือ ผ้านุ่ง ส่วนผ้าผืนยาวที่นุ่งเวลาออกงานสำคัญ เรียกว่า เกลิดฮะเหลิ่น แปลว่า ผ้านุ่งยาว (ลอยชาย) สวมเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด แขนกระบอก มีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน สมัยก่อนนิยมโพกศีรษะ ต่อมาตัดสั้นแบบสมัยนิยม สำหรับการแต่งกายของหญิงมอญนั้นจะสวม หนิ่น ซึ่งคล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายจะละเอียด และสวยงามกว่า รวมถึงมีวิธีการนุ่งที่ต่างกัน สวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุด สีสันสดใสตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง สีอ่อน มองเห็นเสื้อตัวใน ถ้ายังสาวอยู่แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้ว จะเป็นแขนสามส่วน หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวย ค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง โดยมีเครื่องประดับ ๒ ชิ้น บังคับไม่ให้ผมมวยหลุด คือ โลหะรูปตัว U คว่ำแคบๆ และโลหะรูปปีกกาตามแนวนอน ภาษามอญเรียกว่า อะน่ดโซ่ก และ ฮะเหลี่ยงโซ่ก จากนั้นประดับด้วย “แหมะเกวี่ยปาวซ่ก“ รอบมวยผม สิ่งสำคัญของคนมอญเมื่อไปวัด คือผ้าสไบ เรียกว่า หยาดโด๊ด ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่โดยมากชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้า โดยพาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย แต่หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรงๆ บนไหล่ซ้าย หากแต่ในปัจจุบัน อาจเห็นผู้ชายสวมเสื้อขาว โสร่งพื้นแดงลายตาราง ส่วนผู้หญิง สวมเสื้อขาวหรือชมพูอ่อน ผ้าถุงพื้นแดงเชิงลายดอกพิกุล เพื่อแสดงเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนทุกครั้งที่มีโอกาส โดยเฉพาะในงานสำคัญอย่างวันชาติมอญ เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างทางเชื้อชาติระหว่างมอญกับพม่า เพราะคนทั่วไปมักแยกไม่ออกว่าพม่ากับมอญต่างกันอย่างไร

การที่มอญต้องการแสดงความแตกต่างจากพม่านั้น มีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญที่มีลักษณะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพม่า ชนชาติมอญเป็นผู้รักความสงบ ยึดมั่นในหลักคำสอนของพุทธศาสนา ในขณะที่พม่าต้องการยึดครองดินแดนสุวรรณภูมิโดยการใช้กำลังผนวกมอญเป็นส่วนหนึ่งแล้วพยายามกำจัดอาณาจักรอยุธยา เมื่อมอญตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้วก็ได้รับความลำบาก ถูกกดขี่ข่มเหง เกณฑ์แรงงานไปใช้ในการก่อสร้าง ทำการเกษตรรวบรวมเสบียงอาหารให้กองทัพพม่าก่อนการยกทัพเข้าทำสงคราม ชาวมอญจึงเริ่มอพยพเข้าสู่อาณาเขตของไทย เนื่องจากพื้นที่ของมอญและไทยต่อเนื่องกัน สภาพภูมิอากาศคล้ายกัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาหารการกิน วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีก็เหมือนกัน ที่สำคัญคือ นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน จึงสามารถปรับตัวได้ง่าย ประกอบกับไทยมีความรู้สึกเป็นมิตร ไม่มีนโยบายกีดกันชาวมอญ



จากการที่ชาวมอญได้เข้ามาอยู่ร่วมกับคนไทยและสังคมไทยเป็นเวลานาน คนไทยและสังคมไทยได้รับการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวมอญ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ทั้งด้านอาหารการกิน เช่น กะละแม ขนมจีน ข้าวทิพย์ ข้าวแช่ ด้านการละเล่น ดนตรี นาฏศิลป์ เช่น ปี่พาทย์มอญ ฆ้องมอญ มอญรำ มอญซ่อนผ้า ทะแยมอญ ด้านศาสนา ได้แก่ พุทธศาสนานิกายธรรมยุติ หรือรามัญนิกาย เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มชนทั้งสองนับแต่อดีตมา



ปัจจุบัน มีชาวมอญได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในหลายรูปแบบทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ตามกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การที่มอญซึ่งเป็นเพียงเขตปกครองเขตหนึ่งของพม่า ชาวมอญจึงไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมอญ แต่ถูกเรียกขานว่าเป็นพม่า และเมื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยก็จะถูกมองว่าเป็นชาวพม่า ทังนี้เป็นเพราะชาวมอญและชาวพม่ามีความคล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ด้าน ประกอบกับการที่ชาวมอญต้องปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่ตนอาศัยอยู่ วัฒนธรรม ประเพณีบางอย่างจึงพลอยกร่อนไปด้วย วัฒนธรรมมอญบางส่วนถูกดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ด และบ้านมอญ นครสวรรค์ แม้บางคนอาจจะมองว่าไม่ใช่วัฒนธรรมเดิมของมอญ โดยเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากร กระบวนการผลิตแบบเดิมก็คือ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาสามโคก แต่ก็เป็นการปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งก็เป็นการสร้างกระแสให้คนทั่วไปรู้จักวัฒนธรรมมอญ นอกจากจะรู้จักเพียงการเล่นสะบ้า หรือมอญซ่อนผ้า